วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

การรักษา BPPV

1. การรักษาเพื่อลดความรุนแรงของอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน
เช่น ให้หลีกเลี่ยงจากท่าที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ค่อยๆ บริหารให้สามารถค่อยหันหรือทำในท่าที่ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนได้ ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ทุเลาลงเรื่อยๆ ใน 2 สัปดาห์ โดยเฉพาะหลัง 1-2 เดือนขึ้นไป
แนะนำให้ระมัดระวังกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ และมีอันตรายต่อผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เช่น ปีนป่ายที่สูง ดำน้ำ

2. รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัด ปัจจุบันยอมรับได้ผลดี
แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ แบบแรกเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูน และ แบบที่ 2 เพื่อให้เกิดการปรับสภาพสมองให้หายเร็วขึ้น

3. รักษาด้วยยา
ไม่มียารักษาเฉพาะสำหรับโรคนี้แต่มียาเพื่อช่วยลดอาการเวียนศีรษะ

4. รักษาด้วยการผ่าตัด
รักษาด้วยวิธีดังกล่าวเบื้องต้นไม่ดีขึี้นใน 6 เดือน - 1 ปี ยังมีอาการตลอดหรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อยๆ

วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

BPPV วิธีรักษาและวินิจฉัย

การวินิจฉัยโรค BPPV
วินิจฉัยจากประวัติและอาการ
ประวัติหรืออาการของผู้ป่วยคือ จะเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนแปลงท่าของศีรษะ เช่น ระหว่างกำลังล้มตัวลงนอน เงยหน้า ก้มหยิบของ
ร่วมกับตรวจร่างกาย โดยแพทย์จะตรวจยืนยันด้วยการตรวจร่างกายทาง ระบบประสาท หู คอ จมูก โดยมีการตรวจยืนยันจำเพาะด้วยการหมุนศีรษะเพื่อดูลูกตาหมุน ( nystagmus) ที่เรียกว่า Hallpike maneuver และ Supine rolling test ถ้าพบการกระตุกหมุนของลูกตา ร่วมกับที่เวียนศีรษะ เป็นลักษณะที่ชี้บ่งถึงโรคนี้

และอาจตรวจพิเศษการได้ยิน ซึ่งผลควรปกติ ยกเว้นในรายที่มีปัญหาการได้ยินเดิม มีการตรวจยืนยันพิเศษเพิ่ม ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรวจทุกราย ยกเว้นไม่สามารถตรวจร่างกายไม่พบการกระตุกหมุนตาอย่างชัดเจน อาจต้องตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษที่เรียก ENG (Electronystagmography) เพื่อดูการกระตุกของลูกตา

พรุ่งนี้ต่อกันเรื่องการรักษาคะ

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

BPPV หรือ โรคบ้านหมุนขณะเปลี่ยนท่า หรือ โรคบ้านหมุนจากหินปูนหรือตะกอน แคลเซียมในหูชั้นใน

BPPV คือโรคอะไร ?


เป็นโรคเวียนศีรษะ บ้านหมุน จากตะกอนหินปูนในหูชั้นใน เป็นสาเหตุของโรคเวียนศีรษะบ้านหมุนที่พบบ่อยที่สุด มักเกิดจากความเสื่อมของอวัยวะในหูชั้นใน จึงมักพบสูงขึ้นในผู้สูงอายุ แต่อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ป่วยอายุน้อยๆ ก็สามารถพบได้ สถิติทั่วไปสามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 30-70 ปี พบได้ทั้งสองเพศ พบในหญิงมากกว่าชายเล็กน้อย

เวียนแบบไหน น่าจะเวียนศีรษะจากโรค BPPV ?
ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะ ร่วมกับบ้านหมุน ในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะกระทันหัน ประวัติที่พบบ่อย เช่น รู้สึกบ้านหมุน ถ้าเป็นแปล๊บเดียวบางครั้งให้ประวัติว่ารู้สึกวูบๆๆ เหมือนถูกพัก อาจพบตอนที่ตื่นนอนมาบ้านหมุนตอนลุกจากที่นอน หรือล้มตัวลงนอน ขณะพลิกตัวทางขวาหรือซ้าย ก้มหยิบของ เงยหน้าสระผม มักเป็นช่วงสั้นๆ ส่วนใหญ่ไม่เกินหนึ่งนาที
ถ้าเป็นรุนแรงจะมีคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย มักมีอาการร่วมกับช่วงที่มีอากาารบ้านหมุน ซึ่งจะหายไปเมื่อหันศีรษะอยู่ในท่าที่ไม่เวียนศีรษะ
สามารถเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้วันละหลายครั้งต่อวัน แต่มักจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มักเวียนมากในช่วงสามถึงห้าวันแรก หลังจากนั้นค่อยๆ ดีขึ้น มักหายสนิทประมาณ สองสัปดาห์ถึงสองเดือน
ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยเป็นซ้ำ แต่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หลังจากผ่านไปหลายเดือนหรือปี

ไม่ควรพบอาการอะไรในโรค BPPV?
ผู้ป่วย BPPV ไม่มีอาการหูอื้อ ไม่พบการสูญเสียการได้ยิน หรือ เสียงผิดปกติในหู ยกเว้นในรายเป็นโรคหูเดิมอยู่ก่อน ถ้าพบอาการเหล่านี้ให้สงสัยว่าไม่ใช่ BPPV สามารถพบได้ในโรค Meinere's disease หรือ โรคน้ำในหูชั้นในผิดปกติ และ เส้นประสาทหูอักเสบ
ผู้ป่วยไม่ควรมีอาการ ชา แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด เดินเซขณะที่ไม่บ้านหมุนแล้ว ควรรู้ตัวดี ถ้ามีอาการที่กล่าวมาแล้วหรือซึมลง แสดงว่ามีพยาธิสภาพที่ก้านสมอง ซึ่งอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือ เนื้องอกได้

พยาธิกำเนิดและพยาธิวิทยา


ปกติคนเราเวลาหันซ้ายขวา ศีรษะคนเราเคลื่อนไหว ทำให้ลูกตาของเคลื่อนไหวคู่กันไปอัตโนมัติทำให้ภาพที่เรามองยังชัดอยู่ ไม่มีภาพซ้อน
โดยการเคลื่อนของลูกตาเกิดตามคำสั่งของเส้นประสาทหู ซึ่งเกิดจากการสั่งงานของตะกอนแคลเซียมในหูชั้นใน ส่งสัญญาณไปที่สมองและสั่งงานมาที่กล้ามเนื้อลูกตาให้เคลื่อนตามศีรษะที่หมุน ดังภาพด้านบน

ที่นี้ถ้าตะกอนหินปูนมันอยู่ผิดที่ก็ทำให้สัญญาณมันเยอะกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะบ้านหมุนเนื่องจากลูกตาหมุน เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ซึ่งเป็นภาพลวงตาที่เห็นบ้านหรือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราหมุน แต่จริงบ้านอยู่เฉยๆ ที่หมุนเนื่องจากลูกตาหมุน ซึ่งภาษาแพทย์เรียกว่า true vertigo นั้นเอง ดังภาพด้านล่าง


พรุ่งนี้ถ้าหมอไม่เหนื่อยมา เรามาดูกันต่อเรื่องการวินิฉัยและรักษาต่อคะ
ขอให้ทุกคนแข็งแรงนะคะ

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

TIA โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดชั่วคราว

เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอกระทันหัน และสามารถกลับคืนปกติได้ในเวลารวดเร็ว ทำให้มีอาการของอัมพฤษอัมพาตชั่วคราว เช่น อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีกชั่วคราว หรือ จับของไม่ถนัดของหล่นจากมือไม่นาน 5-10 นาที หายได้เอง โดยคำจำกัดความคือหายได้เองใน 24 ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่ที่มักหายได้เอง มักหายเองได้ใน 5-10 นาที ไม่เป็นนานเกินครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง แต่ถึงแม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ของ TIA หายเองได้ แต่พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเป็นซ้ำและเกิดภาวะโรคหลอดเลือดสมองตามมาถาวรได้ โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมงแรกและ 2 สัปดาห์แรก จึงควรพบแพทย์ทันทีที่มีอาการเพื่อรักษาได้ทันท่วงที ป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำได้อีก


อาการอะไรบ้าง ที่น่าสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และมาพบแพทย์ทันที
ปากเบี้ยว หรือ ชาบริเวณใบหน้า
ปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน
ระดับความรู้สึกตัวลงลงอย่างรวดเร็ว
แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกอย่างเฉียบพลัน
แขนขาชาครึ่งซีกอย่างเฉียบพลัน
วิงเวียนศีรษะ เดินเซ เฉียบพลัน
เดินเซ เดินลำบาก ทรงตัวไม่ได้ เฉียบพลัน